คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม ภัยร้ายในยุคสังคมก้มหน้า
ในยุคดิจิตอล ที่การสื่อสารสามารถทำได้ง่าย เพียงปลายนิ้ว ทำให้ดวงตาต้องรับบทหนัก ต้องเพ่ง ต้องจ้องหน้าจอต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ประจำปี 2014 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสัปดาห์ในปี 2557 เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใช้เวลาโดยประมาณ 7.2 ชั่วโมงต่อวัน (หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของวันเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต) ขณะปี 2556 มีตัวเลขการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ย 32.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใช้เวลาโดยประมาณ 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สอดคล้องกับข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดีย และสมาร์ทโฟน ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การเล่นเฟซบุ๊กของคนไทยที่มีมากถึง 28 ล้านราย คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 53 เช่นเดียวกับยอดผู้ใช้ LINE คนไทยติดเป็นอันดับ 2 ของโลก ทะลุ 24 ล้านคน ส่วนอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือ พบว่าชาวไทยกว่าร้อยละ 85 ติดมือถืออย่างหนักจนขาดไม่ได้ ยังไม่รวมถึงการใช้จอคอมพิวเตอร์สำหรับการทำงาน และการดูทีวี ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาให้ถูกทำลายโดยไม่รู้ตัว
นพ.พิษณุ พงษ์สุวรรณ จักษุแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่าคนไทยมีปัญหาโรคตาที่มีสาเหตุจากการใช้คอมพิวเตอร์และจอต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี ผลพวงจากความสะดวกและความทันสมัยของการสื่อสารในปัจจุบัน ทำให้เราเสพติดการสื่อสาร ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหน เราก็มักจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาพิมพ์บอกเพื่อนผ่านโปรแกรมแชต และผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่เสมอจนติดเป็นนิสัย จนทำให้เราลืมไปว่าดวงตาของเรากำลังถูกใช้งานอย่างหนักเกินความจำเป็น เพราะการมองหน้าจอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจอสมาร์ทโฟน จอแท็บเล็ต จอคอมพิวเตอร์ และจอโทรทัศน์ ตลอดเวลาและติดต่อกันเป็นเวลานาน ดวงตาของเราจะต้องเจอกับแสงจ้าจากหน้าจอดังกล่าว เกิดอนุมูลอิสระสะสม จนอาจจะทำให้เกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาของเราได้ เช่น อาจจะเกิดการระคายเคือง น้ำตาไหล ตาแห้ง ตาอักเสบ เกิดสายตาพร่ามัว จากกล้ามเนื้อตาอ่อนล้า มีอาการมองเห็นภาพซ้อน รวมถึงอาการแพ้แสง จนมีการจัดกลุ่มอาการต่าง ๆ นี้รวมกันเรียกว่า โรคคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม.
นอกจากตาแล้วยังทำให้มีอาการปวดศีรษะ บ่า และคอร่วมด้วย เพราะไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อดวงตาเกิดความผิดปกติแล้วจะสามารถกลับมามองได้ชัดเหมือนเดิมหรือไม่ เราควรป้องกันการเกิดความผิดปกติต่าง ๆ กับดวงตา เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ดวงตา เช่น หากต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน ๆ ควรหมั่นพักสายตา 2-3 นาที ต่อการใช้สายตาทุก ๆ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง และกะพริบตาบ่อย ๆ 10-15 ครั้งต่อนาที และควรใช้สายตาในการทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเท่าที่จำเป็น รวมถึงนั่งทำงานในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ ปรับขนาดตัวหนังสือให้อ่านง่าย นอกจากนี้เวลาอยู่ในที่กลางแจ้งที่มีแดดจ้า หรือเวลาขับรถในเวลากลางวันควรใส่แว่นกันแดด เพื่อลดปริมาณแสงแดดเข้าสู่ดวงตาที่นำมาซึ่งความเสื่อม และความผิดปกติของดวงตา บำรุงดวงตาจากภายในด้วยอาหารบำรุงสายตาที่มีประโยชน์ควบคู่ไปด้วย เช่น การเลือกผักและผลไม้ที่มีวิตามินเอสูง ที่มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และความเสื่อมของดวงตา รวมทั้งช่วยป้องกันความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงตา ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระพบมากในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่าง ๆ เช่น บิลเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ และแบล็คเคอร์แรนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ที่สำคัญที่สุด ควรไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหากเกิดความผิดปกติของดวงตาควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที.“
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น