วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เพลินอยู่กับสังคมก้มหน้า เสี่ยงโรคปวดศีรษะระยะยาว

เพลินอยู่กับสังคมก้มหน้า เสี่ยงโรคปวดศีรษะระยะยาว

     ในยุคปัจจุบันสังคมออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ปริมาณการใช้งานสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากในอดีตที่มีการใช้เพียงเพื่อโทรศัพท์หรือเช็กอีเมล ก็มีการเพิ่มระยะเวลาในการใช้งานนานมากขึ้น บางคนใช้งานเกือบตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าถึงเข้านอนตอนค่ำ มิหนำซ้ำยังวางไว้ข้างตัวขณะนอนหลับอีกด้วย จนเกือบเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในร่างกายที่ขาดไม่ได้ 



 แต่การใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบประสาทและกระดูกต้นคอ เมื่อใช้ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมาได้ โดยอาการผิดปกติที่พบได้บ่อยในกลุ่มคน "สังคมก้มหน้า" คือ อาการปวดศีรษะนั่นเอง
        เรืออากาศโท นายแพทย์กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากความไวที่มากกว่าปกติของระบบประสาทเอง ซึ่งทำให้เกิดโรคปวดศีรษะไมเกรน หรือจากความผิดปกติอื่น ๆ เช่น เนื้องอกในสมอง, เส้นเลือดในสมองแตก, ความดันในสมองผิดปกติ, ยาหรือสารเคมีบางชนิด เป็นต้น 

        นอกจากนี้ การใช้งานสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ที่มากเกินไป หรือใช้งานอย่างไม่ถูกท่าทางนั้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน เนื่องจากการก้มหน้าใช้งานแก็ดเจ็ตเป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอเกิดอาการเมื่อยล้า หรือเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อขึ้นมาเป็นก้อน และอาการปวดกล้ามเนื้อคอนี้ อาจส่งความปวดไปยังส่วนอื่นที่ใกล้เคียง เช่น ท้ายทอย, บริเวณขมับ, รอบกระบอกตา หรือหน้าผากได้ 

        ทั้งนี้เรืออากาศโท นายแพทย์กีรติกร ว่องไววาณิชย์ ยังชี้แจงเพิ่มเติมมาว่า โรคปวดศีรษะระยะยาวเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ หรือใช้สมาร์ทโฟนอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งจะรู้จักกันดีในชื่อ "กลุ่มอาการปวดจากกล้ามเนื้อเกร็ง" หรือ Myofascial pain syndrome (MFS) การก้มหน้าเป็นระยะเวลานานนั้น ยังส่งผลต่อกระดูกต้นคอ ทำให้กระดูกต้นคอเกิดการรับน้ำหนักมากกว่าปกติถึง 6 เท่า เกิดภาวะกระดูกคอเสื่อมก่อนวัย หรืออาจถึงขั้นหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาทได้ การเกิดกระดูกต้นคอเสื่อมนั้นถ้าไปกดทับเส้นประสาทสมองระดับที่ 1-4 (Cervical nerve root level 1-4) ก็อาจเกิดอาการปวดศีรษะที่บริเวณท้ายทอย, ด้านข้างศีรษะ, ขมับ, กระบอกตา, หน้าผาก รวมถึงกลางกระหม่อมได้ ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกว่าโรคนี้ว่า
 "โรคปวดศีรษะจากความผิดปกติของคอ" หรือ Cervicogenic headache

        นอกจากนี้ ขณะที่เราใช้งานสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์อยู่ แสงที่ออกมาจากหน้าจอหรือแสงสะท้อนจากหน้าจอยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลันขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นโรคไมเกรนอยู่แล้ว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งปวดบริเวณคอและศีรษะ ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบรุนแรงเฉียบพลันได้อีกด้วย 

        จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า "พฤติกรรมติดสังคมก้มหน้า” อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้หลายชนิด ซึ่งบางชนิดอาจมีความรุนแรงจนถึงขั้นต้องรักษาโดยการผ่าตัด ดังนั้นการใช้งานสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์อย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ ส่วนในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะจากการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์แล้ว อาจพิจารณาให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการอย่างเหมาะสมต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น