วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วิธีนวดรักษานิ้วล็อกด้วยตัวเอง คนติดโซเชียลควรรู้ !

       นิ้วล็อก อาการปวดบริเวณนิ้วจนเหยียดงอไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย จึงถือว่าเป็นภัยใกล้ตัว โดยเฉพาะในยุคดิจิตอลที่คนติดสมาร์ทโฟนอย่างทุกวันนี้

          นิ้วล็อกทำไงดี ? หลายคนมีอาการนิ้วล็อกเกิดกับตัวเองอย่างไม่คาดคิด แต่หากคุณเป็นคนที่ใช้กล้ามเนื้อบริเวณนิ้วมือมากเกินปกติ เช่น หิ้วของหนักเป็นเวลานาน ๆ ทำกิจกรรมที่ต้องถือหรือจับสิ่งของต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ๆ หรือแม้แต่การเล่นสมาร์ทโฟนอย่างหนักหน่วง อาการนิ้วล็อกหรือเจ็บจนเหยียดงอนิ้วไม่ได้ก็จะสร้างความเจ็บปวดให้กับคุณอย่างที่เห็น

          ทว่านิ้วล็อกไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงแต่อย่างใด แต่เป็นแค่อาการที่สร้างความเจ็บปวดและเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งในวันนี้เราก็มีวิธีนวดรักษานิ้วล็อกด้วยตัวเองมาให้ลองทำตามด้วยค่ะ ว่าแล้วก็ไปดูวิธีรักษานิ้วล็อกด้วยตัวเองกันเลย



1. วิธีนวดแก้อาการนิ้วล็อก โดยอาจารย์สุวัฒน์ จังหวัดเชียงใหม่




เริ่มจากคลึงหาเส้นที่ตึงจนทำให้เกิดอาการนิ้วล็อก โดยหากคลำบริเวณฝ่ามือแล้วพบเส้นเอ็นที่แข็ง และมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ให้ค่อย ๆ นวดที่เนินฝ่ามือ ณ จุดที่ปวดนั้นไปเรื่อย ๆ สักพัก



พลิกหลังมือมาคลึงบริเวณข้อนิ้วที่เกิดอาการนิ้วล็อก ใช้นิ้วโป้งกดคลึงไปเรื่อย ๆ ให้รอบข้อนิ้ว เพื่อให้พังผืดคลายตัว ในขั้นตอนนี้ควรนวดนาน ๆ หน่อย และอาจจะรู้สึกเจ็บมาก แต่ขอให้อดทนไปก่อน


พลิกฝ่ามืออีกครั้ง แล้วรีดเส้นเอ็น ณ บริเวณโคนนิ้วที่เกิดอาการนิ้วล็อก โดยใช้หัวนิ้วมือรีดเส้นเอ็น กดเน้นหนัก ๆ จากโคนนิ้วมาที่ฝ่ามือเพื่อคลายอาการตึง






คลึงต่อมาที่บริเวณฝ่ามือและข้อมือ โดยให้ลองคลำไปที่กลางลำแขน จะพบเส้นเอ็นที่แข็งเกร็งเป็นแนวเดียวกันกับนิ้วที่เกิดอาการล็อก ให้ใช้นิ้วโป้งวางข้างเส้นเอ็นที่แข็งนั้น แล้วบิดข้อฝ่ามือไปมาเพื่อขยับเส้น


พลิกมานวดคลึงบริเวณแขนด้านนอก นวดคลึงไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เส้นเอ็นที่แข็งเกร็งคลายตัว ขั้นตอนนี้ควรใจเย็น ๆ เพราะอาจต้องใช้เวลานวดนานหน่อย




ขยับมานวดบริเวณใต้รักแร้ โดยจะสังเกตได้ชัดเลยว่าเส้นเอ็นบริเวณใต้รักแร้จะพองโตผิดปกติ ให้ใช้นิ้วโป้งออกแรงกดและเขี่ยเส้นเอ็นที่แข็งนั้นอย่างช้า ๆ โดยนวดจนกว่าเส้นเอ็นที่แข็งเกร็งจะคลายตัวจนนิ่มลง




สุดท้ายให้ใช้นิ้วเขี่ยเส้นที่ปลอกนิ้ว หรือบริเวณข้อต่อของนิ้วที่ล็อกตรงกลางฝ่ามือ โดยใช้หลังเล็บค่อย ๆ สะกิดข้างเส้นเอ็นที่แข็ง เพื่อคลายพังผืดที่รัดปลอกเอ็น จากนั้นดัดนิ้วที่เกิดอาการนิ้วล็อกเข้าหาตัวอย่างช้า ๆ โดยอาจจะรู้สึกเจ็บมาก ให้ดัดได้มากที่สุดเท่าที่เราจะไหว


หลังจากนวดเสร็จแล้ว ให้หมั่นทำกายภาพบำบัดด้วยการดัดนิ้วเข้าหาตัวเองบ่อย ๆ และสะบัดฝ่ามือบ่อย ๆ ด้วย

2. วิธีนวดรักษานิ้วล็อก โดย นายแพทย์ Levi Harrison จากสถาบัน Los Angeles Orthopedic Surgeon 

          อีกหนึ่งวิธีนวดรักษาอาการนิ้วล็อก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูก จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมาแนะนำวิธีนวดรักษาอาการนิ้วล็อกและอาการปวดบริเวณโคนนิ้วโป้ง ซึ่งอาการปวดบริเวณนี้มักจะก่อให้เกิดอาการนิ้วล็อกที่นิ้วโป้ง และมักจะเกิดกับคนที่เล่นมือถือหนัก ๆ รวมทั้งคนที่ต้องใช้แรงนิ้วมือไปกับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ โดยหากใครเป็นนิ้วล็อก ณ จุดนี้ หรือมีอาการปวดโคนนิ้วโป้ง สามารถนวดรักษานิ้วล็อกได้ด้วยตัวเองตามนี้เลย


ให้นวดคลึงข้อต่อบริเวณโคนนิ้วโป้ง หรือโคนนิ้วที่ปวด จากนั้นค่อย ๆ ขยับนิ้วขึ้นลงอย่างช้า ๆ โดยที่ยังคงกดคลึงบริเวณโคนข้อต่ออยู่ โดยนวดนานประมาณ 2 นาที และควรทำบ่อย ๆ อย่างน้อยทำให้ได้ 3 ครั้งต่อวัน

   ทั้งนี้การนวดรักษาอาการนิ้วล็อกอาจช่วยบรรเทาอาการนิ้วล็อกในระยะเริ่มต้นได้เท่านั้น ทว่าหากอาการนิ้วล็อกของคุณรุนแรงจนขยับนิ้วเหยียดตรงไม่ได้ เคสนี้อาจต้องทำการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์โดยการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ หรือการผ่าตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นให้กว้างขึ้น ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการนิ้วล็อกของคุณได้อย่างเห็นผลกว่า

ติดสมาร์ทโฟนระวังไว้ แสงสีฟ้าจากหน้าจอทำร้ายร่างกายและสมองแบบนี้ !

 สมาร์ทโฟนกับสุขภาพ และสัญญาณอันตรายจากการใช้สมาร์ทโฟนที่ควรใส่ใจ ถ้าไม่อยากให้สมาร์ทโฟนทำร้ายร่างกายและสมอง !

          แม้จะรู้มาบ้างว่าการจ้องหน้าจอมือถือนาน ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสุขภาพ แต่สังคมทุกวันนี้ก็ยังไม่หลุดพ้นจากคำว่าสังคมก้มหน้าสักที ซึ่งการติดจอมือถือแบบนี้รู้ไหมคะว่าไม่ได้กระทบไปที่สุขภาพดวงตาของเราเท่านั้นนะ แต่เจ้าแสงสีฟ้าที่หน้าจอสมาร์ทโฟนยังอาจส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของร่างกายและสมองเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะหากจ้องหน้าจอมือถือก่อนเข้านอน
          โดยปกติแล้วแสงสีฟ้าบนหน้าจอมือถือและสมาร์ทโฟนจะถูกปล่อยออกมาจากอุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ตลอดทั้งวัน เพียงแต่ว่าในช่วงกลางวันที่เราจ้องหน้าจอ แสงสีฟ้าบนจอสมาร์ทโฟนจะกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมและแสงสว่าง ณ ที่ที่เราอยู่ ดังนั้นผลกระทบกับร่างกายจึงอาจไม่มากนัก

          ทว่าเมื่อใดที่เล่นสมาร์ทโฟนในตอนกลางคืน ร่างกายและสมองจะปรับตัวกับแสงสีฟ้าจากสมาร์ทโฟนไม่ทัน ก่อให้เกิดความสับสนว่าตอนนี้ควรจะนอนหรือควรจะตื่น แล้วแสงที่สายตาได้รับและส่งผ่านไปยังสมองนั่นคือแสงจากดวงอาทิตย์ในตอนกลางวันหรือแสงอะไรกันแน่ ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพของเราอย่างแน่นอนจริงไหมคะ โดยเฉพาะหากสมองเกิดสับสนระหว่างช่วงเวลากลางวันและกลางคืน การทำงานของเมลาโทนิน ฮอร์โมนสำคัญของนาฬิกาชีวิตก็จะเริ่มรวน ช่วงเวลาที่ร่างกายควรจะนอนหลับพักผ่อนก็จะถูกยืดออกไป ส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพในอีกหลาย ๆ ด้าน โดยอาการเบาะ ๆ ของคนที่นอนไม่พออาจเป็นดังนี้



ขี้หลงขี้ลืม เพราะนอนไม่พอสมองก็ไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม ประสิทธิภาพการทำงานและการจดจำของสมองก็จะเสื่อมลง เห็นได้ชัดในวันรุ่งขึ้นเลย


เรียนรู้ช้าลง เมื่อสมองไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ แล้วจะเอาแรงที่ไหนมาบันทึกข้อมูลที่คุณเรียนรู้และควรต้องจดจำกันล่ะ


จากนอนไม่พอ อาจกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ การฝึกให้ตัวเองนอนไม่พอบ่อยครั้งเข้า ก็เหมือนฝึกให้ร่างกายสะสมสารพิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin) ทำให้กลายเป็นคนนอนหลับยากขึ้นทุกที


เครียด หากปล่อยให้แสงสีฟ้ามายับยั้งการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินจนเสียระบบไปหมด อาจทำให้เกิดภาวะเครียดได้ เนื่องจากพอนอนไม่พอก็จะรู้สึกหงุดหงิด พอหงุดหงิดบ่อย ๆ เข้าโลกก็หม่นหมอง ไม่มีความสุข


อ้วนขึ้น ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้เรามีความอยากอาหารมากขึ้น โดยที่สมองจะสั่งให้เราอยากกินแต่อาหารที่มีแคลอรีสูงเพื่อนำมาใช้เผาผลาญเป็นพลังงานแก่ร่างกาย เราจึงมีแนวโน้มน้ำหนักตัวขึ้นง่ายจากอาหารที่มีแคลอรีสูงเหล่านี้นั่นเอง


เสี่ยงมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก นักวิจัยส่วนใหญ่เผยว่า โรคมะเร็งบางชนิดก็สามารถกำเริบได้ หากมีพฤติกรรมนอนน้อย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ 


เสี่ยงโรคต้อกระจก หากจ้องอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานกว่าสิบชั่วโมงในแต่ละวัน อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพตา ไม่ว่าจะปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า สายตาสั้น และอาจทำให้เกิดต้อกระจกขึ้นได้เร็วขึ้น


สายตาพร่ามัว การนอนไม่พอมีผลทำให้สายตาของเราพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด และหากนอนไม่พอติดต่อกันเป็นเวลาหลายคืนอาจมีอาการกล้ามเนื้อตากระตุก หนังตาเขม่น มองเห็นเป็นภาพซ้อน และอาจเกิดอาการเห็นภาพหลอนด้วย

          ทั้งนี้ แสงสีฟ้าตัวการที่ทำให้เรานอนไม่พอจนกระทบกับสุขภาพไม่ได้มีอยู่แค่ในหน้าจอสมาร์ทโฟนเท่านั้นนะคะ แต่ยังแฝงอยู่ในจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ทีวี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลาย ๆ ชิ้นอีกด้วย ดังนั้นหากเป็นไปได้ก็อย่าลืมตีตัวออกห่างจากอุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้กันบ้างนะ


เพลินอยู่กับสังคมก้มหน้า เสี่ยงโรคปวดศีรษะระยะยาว

เพลินอยู่กับสังคมก้มหน้า เสี่ยงโรคปวดศีรษะระยะยาว

     ในยุคปัจจุบันสังคมออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ปริมาณการใช้งานสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากในอดีตที่มีการใช้เพียงเพื่อโทรศัพท์หรือเช็กอีเมล ก็มีการเพิ่มระยะเวลาในการใช้งานนานมากขึ้น บางคนใช้งานเกือบตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าถึงเข้านอนตอนค่ำ มิหนำซ้ำยังวางไว้ข้างตัวขณะนอนหลับอีกด้วย จนเกือบเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในร่างกายที่ขาดไม่ได้ 



 แต่การใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบประสาทและกระดูกต้นคอ เมื่อใช้ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมาได้ โดยอาการผิดปกติที่พบได้บ่อยในกลุ่มคน "สังคมก้มหน้า" คือ อาการปวดศีรษะนั่นเอง
        เรืออากาศโท นายแพทย์กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากความไวที่มากกว่าปกติของระบบประสาทเอง ซึ่งทำให้เกิดโรคปวดศีรษะไมเกรน หรือจากความผิดปกติอื่น ๆ เช่น เนื้องอกในสมอง, เส้นเลือดในสมองแตก, ความดันในสมองผิดปกติ, ยาหรือสารเคมีบางชนิด เป็นต้น 

        นอกจากนี้ การใช้งานสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ที่มากเกินไป หรือใช้งานอย่างไม่ถูกท่าทางนั้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน เนื่องจากการก้มหน้าใช้งานแก็ดเจ็ตเป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอเกิดอาการเมื่อยล้า หรือเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อขึ้นมาเป็นก้อน และอาการปวดกล้ามเนื้อคอนี้ อาจส่งความปวดไปยังส่วนอื่นที่ใกล้เคียง เช่น ท้ายทอย, บริเวณขมับ, รอบกระบอกตา หรือหน้าผากได้ 

        ทั้งนี้เรืออากาศโท นายแพทย์กีรติกร ว่องไววาณิชย์ ยังชี้แจงเพิ่มเติมมาว่า โรคปวดศีรษะระยะยาวเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ หรือใช้สมาร์ทโฟนอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งจะรู้จักกันดีในชื่อ "กลุ่มอาการปวดจากกล้ามเนื้อเกร็ง" หรือ Myofascial pain syndrome (MFS) การก้มหน้าเป็นระยะเวลานานนั้น ยังส่งผลต่อกระดูกต้นคอ ทำให้กระดูกต้นคอเกิดการรับน้ำหนักมากกว่าปกติถึง 6 เท่า เกิดภาวะกระดูกคอเสื่อมก่อนวัย หรืออาจถึงขั้นหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาทได้ การเกิดกระดูกต้นคอเสื่อมนั้นถ้าไปกดทับเส้นประสาทสมองระดับที่ 1-4 (Cervical nerve root level 1-4) ก็อาจเกิดอาการปวดศีรษะที่บริเวณท้ายทอย, ด้านข้างศีรษะ, ขมับ, กระบอกตา, หน้าผาก รวมถึงกลางกระหม่อมได้ ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกว่าโรคนี้ว่า
 "โรคปวดศีรษะจากความผิดปกติของคอ" หรือ Cervicogenic headache

        นอกจากนี้ ขณะที่เราใช้งานสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์อยู่ แสงที่ออกมาจากหน้าจอหรือแสงสะท้อนจากหน้าจอยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลันขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นโรคไมเกรนอยู่แล้ว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งปวดบริเวณคอและศีรษะ ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบรุนแรงเฉียบพลันได้อีกด้วย 

        จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า "พฤติกรรมติดสังคมก้มหน้า” อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้หลายชนิด ซึ่งบางชนิดอาจมีความรุนแรงจนถึงขั้นต้องรักษาโดยการผ่าตัด ดังนั้นการใช้งานสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์อย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ ส่วนในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะจากการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์แล้ว อาจพิจารณาให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการอย่างเหมาะสมต่อไป



โซเชียลทำพิษ... 5 โรคฮิตของคนติดจอ


 5 โรคฮิตของคนติดจอ ติดแชท 





            ยุคสังคมออนไลน์ที่แทบทุกคนต้องมีสมาร์ทโฟน คุยกับเพื่อนผ่านเฟซบุ๊กหรือไลน์แทนการโทรศัพท์ สไลด์หน้าจอรับข่าวสารรอบตัวแบบไม่ให้ตกยุค พฤติกรรมแบบนี้แหละที่หอบเอาปัญหาสุขภาพจากความอินเทรนด์มาถึงตัวแบบยกเซต ว่าแต่ชาวโซเชียลมีเดียมักมีปัญหาสุขภาพอะไรมากที่สุดนะ

          สถาบันสื่อเด็กและเยวชนได้นำข้อมูลจาก คอลัมน์ ทันโรค ของ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุกิจ  ที่เขาจัดอันดับ 5 โรคฮิตของคนติดโซเชียลมีเดียไว้มาบอกกัน โดย 5 โรคฮิตของคนติดจอ ก็คือ โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก, โรคละเมอแชท, โรควุ้นในตาเสื่อม, โรคโนโมโฟเบีย และโรคสมาร์ทโฟนเฟซ เอ...ฟังชื่อดูก็ประหลาด ๆ ทั้งนั้น งั้นเรามาดูซิว่าแต่ละโรคเป็นอย่างไร แล้วอาการไหนที่เราเข้าข่ายซะแล้ว


1. โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก (Facebook Depression Syndrome)

          หลายคนอาจสงสัยว่า เล่นเฟซบุ๊กก็มีเพื่อนตั้งมากแล้วจะเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร แต่อาการนี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ เพราะคนเราเมื่อติดอยู่แต่หน้าจอ จิ้ม ๆ กด ๆ คุยกับคนในโลกออนไลน์ ก็กลายเป็นไปเพิกเฉยต่อคนในโลกจริง แถมหลายคนใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องระบายความรู้สึกมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาเราว้าเหว่ เหงา เดียวดาย ก็ยิ่งโพสต์เยอะ

          โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ได้เขียนบทความให้ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก ไว้อย่างน่าสนใจว่า วารสารการแพทย์กุมารเวชศาสตร์ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ และพบว่า คนที่ถูกเพื่อน ๆ ปฏิเสธหรือเป็นที่รังเกียจในโลกเฟซบุ๊กจะเป็นอันตรายมากกว่าถูกปฏิเสธในโลกแห่งความจริง และหลายรายอาจมีปัญหาซึมเศร้าตามมา 

          นั่นเพราะเฟซบุ๊กได้สร้างความเป็นจริงเทียม (artificial reality) ขึ้นมา จากการโพสต์แต่เรื่องดี ๆ แต่เก็บงำเรื่องร้าย ๆ แย่ ๆ ที่อยากปกปิดเอาไว้ เราถึงเห็นแต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบในโลกเสมือนจริงเต็มไปหมด เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง ความรู้สึก "ไร้ค่า" จึงเกิดขึ้น

          ถ้าคุณรู้สึกเสียความมั่นใจสุด ๆ เวลาส่งคำร้องไปขอเป็นเพื่อนแล้วไม่ได้รับการตอบรับ เก็บมาคิดว่าทำไมจึงไม่เป็นที่ต้องการ นี่ก็เป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊กแล้ว วิธีหลีกหนีอาการนี้ก็คือ ลดการเล่นเฟซบุ๊กลง ทั้งอ่านเรื่องคนอื่น และโพสต์เรื่องตัวเอง จะได้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น





 2. ละเมอแชท (Sleep-Texting)
          อาการนี้ก็คือ ถึงแม้เราจะนอนแต่ก็ยังลุกขึ้นมาพิมพ์เหมือนกับคนละเมอนั่นเอง สาเหตุก็มาจากพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟนเกินเหตุ ทำให้สมองยึดติดกับโทรศัพท์อยู่ทุกขณะจิต แม้กระทั่งเวลานอน หากมีข้อความเข้ามา สมองก็จะปลุกร่างกายที่หลับใหลให้อยู่ในสภาวะละเมอ แล้วกดส่งข้อความไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราอาจไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำว่าเขียนอะไรไป หรือส่งไปหาคน เพราะอยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น แบบนี้ก็เสี่ยงต่อความเข้าใจผิดได้เลยนะเนี่ย
          นอกจากเสี่ยงต่อความเข้าใจผิดแล้ว อาการละเมอแชทยังกระทบสุขภาพด้วย เพราะเมื่อสมองปลุกให้เราตื่นในช่วงนี้ร่างกายก็จะนอนหลับไม่สนิทเต็มที่ เป็นเหตุให้พักผ่อนไม่พอ กระทบมาถึงระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้สะสมความเครียด เสี่ยงเป็นโรคอ้วน ฝันร้าย กระทบต่อการเรียนและการทำงานได้เลยล่ะ


3. โรควุ้นในตาเสื่อม

          ปกติเราก็ใช้งานดวงตาหนักอยู่แล้ว และถ้ายิ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเพ่งข้อความในจอสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ก็ยิ่งทำให้ดวงตาของเราก็ทำงานหนักขึ้นแบบคูณสอง ถ้าปล่อยไปนาน ๆ จนมองเห็นหยากไย่ ตาข่าย หรือเส้นอะไรวนไปวนมาเหมือนยุง ปัดเท่าไรก็ไม่โดนสักที แบบนี้ต้องรีบหาหมอแล้ว 

เพราะนี่คือ "โรควุ้นในตาเสื่อม" 

          จะบอกว่าจริง ๆ แล้วโรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ เพราะใช้งานดวงตามานานจนเสื่อมไปตามวัย แต่น่าตกใจทีเดียวที่ปัจจุบันพบคนอายุน้อย ๆ เป็นโรคนี้มากขึ้น สาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากการแชททั้งวัน จ้องจอทั้งคืน เล่นเกม ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันนาน ๆ ไม่ว่างเว้นนี่เอง พอรู้สึกปวดตาก็คิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก มารู้ตัวอีกทีก็เห็นภาพเป็นคราบดำ ๆ เป็นเส้น ๆ ไปซะแล้ว 

          วิธีป้องกันก่อนเป็นโรควุ้นในตาเสื่อมก็ไม่ยากเลย แค่รู้จักพักสายตาเสียบ้าง มองไปในที่ไกล สูดอากาศธรรมชาติให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย หลับตาลงสักครู่ รู้จักใช้งานเทคโนโลยีในมืออย่างพอเหมาะ ก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงโรคนี้ได้แล้ว


4.โนโฟเบีย  (Nomophobia)
          ชื่อประหลาด ๆ นี้ มาจากคำว่า "no-mobile-phone phobia" แปลตรงตัวก็คือ โรคกลัวไม่มีมือถือใช้ เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มวิตกกังวล 

          คิดดูว่าถ้าเราอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือจู่ ๆ แบตเตอรี่โทรศัพท์ดันหมดซะงั้น แล้วเรารู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย แสดงว่าเข้าเค้าอาการโนโมโฟเบียแล้วล่ะ ในบางคนเป็นมาก ๆ อาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ได้เลย ซึ่งอาการจะหนักเบาขนาดไหนขึ้นอยู่กับแต่ละคน

          สำรวจตัวเองดูหน่อยซิว่า เราหมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความในมือถือ ชอบหยิบขึ้นมาดูบ่อย ๆ หรือเปล่า หรือทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเตือนจากมือถือจะต้องวางภารกิจทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าแล้วรีบคว้าโทรศัพท์มาเช็กแบบด่วนจี๋ทันใจ ใครเป็นแบบนี้ก็เข้าข่ายโนโมโฟเบียแล้วล่ะจ้า ยิ่งถ้าตื่นนอนปุ๊บเช็กมือถือปั๊บ ห่างจากมือถือไม่ได้เลย หรือใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าเพื่อนตรงหน้า ก็ยิ่งชัด 

          ใครที่มีอาการอย่างที่กล่าวว่า ต้องระวังปัญหาสุขภาพให้มาก ๆ โดยเฉพาะนิ้วล็อก ปวดตา ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ หมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร เพราะนั่งผิดท่าเป็นเวลานาน ๆ รวมทั้งอาการนอนไม่หลับ และโรคอ้วนที่เกิดจากมัวแต่นั่งเล่นมือถือนาน ๆ 


 5. โรคสมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone face)
          โรคฮิตของคนติดแชทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 5 ก็คือ โรคสมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone face) หรือโรคใบหน้าสมาร์ทโฟน เกิดจากการที่เราก้มลงมองหน้าจอ หรือจ้องสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตเป็นเวลานานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อคอเกิดอาการเกร็งและไปเพิ่มแรงกดบริเวณแก้ม 

          เมื่อแก้มถูกแรงกดนาน ๆ เข้า ก็จะทำให้เส้นใยอิลาสติกบนใบหน้ายืด จนแก้มบริเวณกรามย้อยลงมา แถมกล้ามเนื้อบริเวณมุมปากก็จะตกไปทางคางด้วย จนใบหน้าอาจดูผิดแปลกไปจากเดิม และจะเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์ของตัวเอง ฟังแล้วน่ากลัวนะเนี่ย หากใครเป็นมาก ๆ เข้าก็ถึงกับต้องศัลยกรรมกันเลย


          สรุปแล้วว่าทั้ง 5 โรคนี้ดูไม่ได้ไกลจากตัวเราเท่าไรเลยนะคะ เพราะทุกคนล้วนใช้โลกออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารกันหมด แต่วิธีป้องกันตัวเองให้ห่างจากโรคเหล่านี้ก็ไม่ยากเลย แค่รู้จักแบ่งเวลาให้เหมาะสม ก้มมองหน้าจอให้น้อยลง เล่นโทรศัพท์ ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นเกมให้น้อยลง



ที่มา : http://health.kapook.com/view90153.html

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม ภัยร้ายในยุคสังคมก้มหน้า

คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม ภัยร้ายในยุคสังคมก้มหน้า

    ในยุคดิจิตอล ที่การสื่อสารสามารถทำได้ง่าย เพียงปลายนิ้ว ทำให้ดวงตาต้องรับบทหนัก ต้องเพ่ง ต้องจ้องหน้าจอต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ประจำปี 2014 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสัปดาห์ในปี 2557 เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใช้เวลาโดยประมาณ 7.2 ชั่วโมงต่อวัน (หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของวันเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต) ขณะปี 2556 มีตัวเลขการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ย 32.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใช้เวลาโดยประมาณ 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สอดคล้องกับข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดีย และสมาร์ทโฟน ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การเล่นเฟซบุ๊กของคนไทยที่มีมากถึง 28 ล้านราย คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 53 เช่นเดียวกับยอดผู้ใช้ LINE คนไทยติดเป็นอันดับ 2 ของโลก ทะลุ 24 ล้านคน ส่วนอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือ พบว่าชาวไทยกว่าร้อยละ 85 ติดมือถืออย่างหนักจนขาดไม่ได้ ยังไม่รวมถึงการใช้จอคอมพิวเตอร์สำหรับการทำงาน และการดูทีวี ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาให้ถูกทำลายโดยไม่รู้ตัว 
     นพ.พิษณุ พงษ์สุวรรณ จักษุแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่าคนไทยมีปัญหาโรคตาที่มีสาเหตุจากการใช้คอมพิวเตอร์และจอต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี ผลพวงจากความสะดวกและความทันสมัยของการสื่อสารในปัจจุบัน ทำให้เราเสพติดการสื่อสาร ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหน เราก็มักจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาพิมพ์บอกเพื่อนผ่านโปรแกรมแชต และผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่เสมอจนติดเป็นนิสัย จนทำให้เราลืมไปว่าดวงตาของเรากำลังถูกใช้งานอย่างหนักเกินความจำเป็น เพราะการมองหน้าจอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจอสมาร์ทโฟน จอแท็บเล็ต จอคอมพิวเตอร์ และจอโทรทัศน์ ตลอดเวลาและติดต่อกันเป็นเวลานาน ดวงตาของเราจะต้องเจอกับแสงจ้าจากหน้าจอดังกล่าว เกิดอนุมูลอิสระสะสม จนอาจจะทำให้เกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาของเราได้ เช่น อาจจะเกิดการระคายเคือง น้ำตาไหล ตาแห้ง ตาอักเสบ เกิดสายตาพร่ามัว จากกล้ามเนื้อตาอ่อนล้า มีอาการมองเห็นภาพซ้อน รวมถึงอาการแพ้แสง จนมีการจัดกลุ่มอาการต่าง ๆ นี้รวมกันเรียกว่า โรคคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม.       

       นอกจากตาแล้วยังทำให้มีอาการปวดศีรษะ บ่า และคอร่วมด้วย เพราะไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อดวงตาเกิดความผิดปกติแล้วจะสามารถกลับมามองได้ชัดเหมือนเดิมหรือไม่ เราควรป้องกันการเกิดความผิดปกติต่าง ๆ กับดวงตา เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ดวงตา เช่น หากต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน ๆ ควรหมั่นพักสายตา 2-3 นาที ต่อการใช้สายตาทุก ๆ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง และกะพริบตาบ่อย ๆ 10-15 ครั้งต่อนาที และควรใช้สายตาในการทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเท่าที่จำเป็น รวมถึงนั่งทำงานในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ ปรับขนาดตัวหนังสือให้อ่านง่าย นอกจากนี้เวลาอยู่ในที่กลางแจ้งที่มีแดดจ้า หรือเวลาขับรถในเวลากลางวันควรใส่แว่นกันแดด เพื่อลดปริมาณแสงแดดเข้าสู่ดวงตาที่นำมาซึ่งความเสื่อม และความผิดปกติของดวงตา บำรุงดวงตาจากภายในด้วยอาหารบำรุงสายตาที่มีประโยชน์ควบคู่ไปด้วย เช่น การเลือกผักและผลไม้ที่มีวิตามินเอสูง ที่มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และความเสื่อมของดวงตา รวมทั้งช่วยป้องกันความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงตา ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระพบมากในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่าง ๆ เช่น บิลเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ และแบล็คเคอร์แรนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ที่สำคัญที่สุด ควรไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพดวงตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหากเกิดความผิดปกติของดวงตาควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที.“

วุ้นตาเสื่อม! ภัยสังคมก้มหน้า

วุ้นตาเสื่อม! ภัยสังคมก้มหน้า




ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา
         ไลฟ์สไตล์คนเมืองกลายเป็นสังคมก้มหน้าเพราะวันๆติดอยู่หน้าจอสมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์ ชีวิตจึงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ “ตา” ซึ่งปัจจุบันกลุ่มคนวัยทำงานมีแนวโน้มที่เกิด “ภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อม” มากขึ้น ซึ่ง ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา นักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกผู้คิดค้นวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันให้สมดุลจากสารสกัดธรรมชาติเพื่อถนอมดวงตา อธิบายว่า ปกติแล้วในลูกตากลมๆของเราจะมีน้ำวุ้นตาเป็นสารใสคล้ายเจลอยู่ภายในลูกตาส่วนหลัง คั่นกลางระหว่างเลนส์กับจอประสาทตา ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงผ่าน ให้สารอาหารแก่จอประสาทตาและเซลล์ผนังลูกตาชั้นใน และช่วยพยุงลูกตาให้คงรูปเป็นทรงกลม แต่เมื่อน้ำวุ้นตาเสื่อมลง จากลักษณะที่เป็นวุ้นกลายเป็นของเหลว เมื่อกลอกตา วุ้นเหล่านี้ก็จะกระเพื่อม จึงเห็นเหมือนมีเงาลอยไปมา หากเป็นมากจะมีอาการเห็นแสง สว่างคล้ายสายฟ้าแลบ และรู้สึกเหมือนขอบเขตการมองเห็นด้านข้างจะแคบลง เนื่องจากจอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอก
       สาเหตุที่แท้จริงของความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา รวมถึงอาการน้ำวุ้นในตาเสื่อมนั้น เกิดจากการที่เม็ดเลือดขาวในตัวเราสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบมากเกินไป ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันและแก้ไขความผิดปกติเหล่านี้ก็คือ การกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้ลดการหลั่งสารเหล่านี้ให้น้อยลงจนเข้าสู่ภาวะสมดุล การวิจัยล่าสุดของคณะนักวิจัย บมจ.เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ ได้ค้นพบนวัตกรรมชื่อว่า “APCOcapsule” และ “APCO essence” ที่สกัดจากพืชธรรมชาติ 5 ชนิด มังคุด งาดำ ถั่วเหลือง ฝรั่ง และบัวบก เมื่อนำมาเสริมฤทธิ์กันจะมีประสิทธิภาพ ทำให้เม็ดเลือดขาวลดการหลั่งสารก่อการอักเสบลง จึงสามารถช่วยป้องกันและทำให้อาการน้ำในวุ้นตาเสื่อม รวมถึงความผิดปกติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงตาดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อาการตาแห้ง ต้อกระจก ต้อหิน ม่านตาอักเสบ จอประสาทตาเสื่อม และความผิดปกติที่สืบเนื่องมาจากอาการแพ้ภูมิตัวเอง เช่น เบาหวานขึ้นตา พังผืดที่ตา เป็นต้น สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะวุ้นตาเสื่อม หลีกเลี่ยงการใช้สายตาเป็นเวลานานๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญต้องรู้จักใช้ดวงตาอย่างทะนุถนอม ไม่ควรใช้สายตาจดจ่ออยู่กับหน้าจอนานๆ อาจใช้วิธีพักสายตาด้วยการหลับตาสักครู่ หรือปรับโฟกัสมองไกลๆบ้าง ร่วมกับการนวดคลึงเบาๆ และไม่ควรละเลยการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะการตรวจพบตั้งแต่แรกเริ่มจะช่วยให้การดูแลรักษาง่ายขึ้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา ปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ฟรี ที่ศูนย์รับปรึกษาปัญหาข้อ เข่า เบาหวาน และดวงตา โทร. 1154.

รังสีจากมือถือ ภัยร้ายของสังคมก้มหน้า



รังสีจากมือถือ ภัยร้ายของสังคมก้มหน้า


            ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นแล้ว สำหรับสังคมที่มีแนวโน้มในการพูดคุยกันน้อยลงเรื่อยๆ แต่กลับก้มหน้าก้มตาจดจ่ออยู่กับมือถือของตนเองได้ทั้งวัน มือถือจึงต้องอยู่ใกล้ตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ช่วงเข้าห้องน้ำ หรือช่วงนอน

โทรศัพท์มือถือ เป็นอุปกรณ์เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ที่จะมีการแผ่รังสีออกมาขณะเครื่องกำลังใช้งาน ซึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ เรายังเพียงยืนอยู่ใกล้ๆ หรืออยู่ในรัศมีนั้นๆ แต่สำหรับมือถือ เราต้องแนบกับหู อยู่ใกล้สมองของเรา หรือถือติดอยู่กับตัวในขณะใช้ รังสีนี้จะมีปริมาณมากขึ้นในขณะใช้ แต่จะหยุดแผ่รังสีเมื่อมีการปิดเครื่อง

รังสีจากโทรศัพท์มือถือรังสีจากโทรศัพท์มือถือ เป็นรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ รังสี อาร์เอฟ ซึ่งอาจทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์เกิดบาดเจ็บเสียหาย โดยไม่มีการแตกตัวของดีเอ็นเอเป็นประจุลบและประจุบวก ซึ่งเซลล์จะบาดเจ็บมากหรือน้อย ขึ้นกับปริมาณรังสีที่เซลล์ได้รับ จัดเป็นรังสีอยู่ในประเภทเดียวกับรังสีคลื่นวิทยุ รังสีจากความร้อน รังสีจากแสงแดด และรังสีจากเตาไมโครเวฟ

ผลของรังสีต่อร่างกายแม้จะยังไม่เคยมีการยืนยันว่าจะเป็นตัวการโดยตรงทำให้เกิดโรคดังต่อไปนี้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นได้อย่างมาก โดยโรคที่อาจจะเป็นได้ มีดังนี้
- เซลล์ที่บาดเจ็บ อาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้เช่น มะเร็งตาเมลาโนมา เป็นต้น
- อาจเกิดเนื้องอกต่างๆ ได้ เช่น เนื้องอกประสารทหู เนื้องอกประสาทตา เนื้องอกสมอง เนื้องอกต่อมน้ำลายบริเวณหน้าหู เป็นต้น
- อาจเกิดต้อกระจกได้
- ปวด มึน งงศีรษะ
- อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ
- มีอาการใจสั่น 


ที่มา :http://www.thaihealth.or.th